วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

๔) ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์                     ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์คือการดำเนินชีวิตเยี่ยงอริยบุคคลผู้บรรลุมรรคผล เมื่อรู้ความจริงอย่างอริยะ คิดอย่างอริยะ พูดอย่างอริยะ กระทำอย่างอริยะ มีสติรู้อย่างอริยะ และจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิอย่างอริยะ วันหนึ่งย่อมกลายเป็นอริยะ ดังนั้นถ้าเราสงสัยว่าทำไมเจริญสติแล้วสติไม่เจริญ หรือสติเจริญแต่ไม่บรรลุมรรคผลเสียที ก็สมควรใช้ข้อปฏิบัติของเหล่าอริยะเป็นเกณฑ์ในการสำรวจตรวจตรา ว่าวิธีดำเนินชีวิตของเราเข้าทางตรงหรือยัง


 การดำเนินชีวิตเยี่ยงอริยะประกอบด้วยองค์ ๘ ประการดังนี้


 ๑. รู้ความจริงอย่างอริยะ  คือรู้ว่าอะไรคือทุกข์ รู้ว่าอะไรคือเหตุแห่งทุกข์ รู้ว่าอะไรคือความดับทุกข์ และรู้ว่าการดำเนินชีวิตอย่างไรจึงดับทุกข์ได้ ผู้รู้ความจริงอย่างอริยะได้ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ซึ่งอาจหมายถึงสัมมาทิฏฐิระดับรับฟังแล้วจดจำ หรือสัมมาทิฏฐิระดับการตรึกนึกให้เข้าใจ ตลอดจนเกิดสัมมาทิฏฐิบริบูรณ์ด้วยการเจริญสติแล้วบรรลุมรรคผล

๒. คิดอย่างอริยะ คือคิดออกจากกาม คิดอภัยไม่พยาบาท และคิดหลีกเลี่ยงการเบียดเบียนใดๆ เพราะกาม พยาบาท และการเบียดเบียนนั้น เป็นเปลือกหนาห่อหุ้มจิตให้มืดมนอยู่ เมื่อมืดอยู่ความจริงใดๆย่อมไม่ปรากฏให้เห็น

๓. พูดอย่างอริยะ คือการเว้นจากการพูดเท็จอันเป็นเหตุให้จิตบิดเบี้ยว เว้นจากการพูดส่อเสียดอันเป็นเหตุให้จิตเร่าร้อน เว้นจากการพูดหยาบคายอันเป็นเหตุให้จิตสกปรก และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้ออันเป็นเหตุให้จิตพร่ามัว กล่าวโดยสรุปคือการพูดไม่ดีเป็นเหตุให้ไม่อาจมองเห็นอะไรตามจริง ถ้างดเว้นเสียได้จึงค่อยเห็นตามจริงได้

๔. กระทำอย่างอริยะ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการขโมย เว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันล้วนเป็นบาปที่พอกหนาแล้วกลายเป็นความโง่เขลา เมื่อเห็นบาปเป็นของดีย่อมได้ชื่อว่าเห็นผิดเป็นชอบ คนเราย่อมไม่อาจเห็นความจริงทั้งที่ยังเห็นผิดเป็นชอบอยู่

๕. เลี้ยงชีพอย่างอริยะ คือหากินด้วยความสุจริต ถ้าเป็นพระต้องรักษาวินัยสงฆ์และเพียรเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งตามกติกาการบวช ถ้าเป็นชาวบ้านต้องทำอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม

๖. เพียรอย่างอริยะ คือตัดใจละบาปอกุศลทั้งปวงจนเหือดแห้งไปหมด ขวนขวายเพิ่มบุญกุศลทั้งหลายจนบริบูรณ์เต็มที่ เช่น มีน้ำใจสละให้ทานคนและสัตว์เพื่อทำลายความตระหนี่ เป็นต้น ไม่มัวหลงประมาทว่าเราดีแล้ว ไม่ต้องเพิ่มความดีแล้ว

๗. มีสติระลึกรู้อย่างอริยะ คือมีความรู้สึกตัวอยู่ รู้สึกถึงกาย เวทนา จิต และธรรม กำจัดความอยาก ละความเศร้าโศกเสียได้


๘. มีสมาธิตั้งมั่นอย่างอริยะ คือเป็นผู้สงัดจากกาม สงัดจากบาปอกุศล จิตตั้งรู้อยู่ในขอบเขตกายใจคงเส้นคงวา กระทั่งเกิดปีติสุขอันวิเวก แล้วพัฒนาขึ้นไปถึงการมีอุเบกขาอันเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ จิตเหมือนปรากฏเป็นอีกภาวะหนึ่งแยกออกมาตั้งมั่นเป็นต่างหากจากกาย เป็นต่างหากจากความรู้สึกนึกคิด สว่างจ้าด้วยปัญญา มีหน้าที่อย่างเดียวคือรู้เห็น ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกายใจใดๆ ผู้ใกล้บรรลุมรรคผลย่อมเห็นตามจริงว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทั้ง ๘ ประการควรเจริญให้มาก

เมื่อเอากายใจเป็นที่ตั้งแห่งความจริง เราจะพบว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดมา นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ทุกข์ทั้งหลายล้วนเป็นเท็จด้วยอาการเลอะเลือนไป เมื่อสงบจากทุกข์ได้เฉพาะตน จึงชื่อว่าเข้าถึงของจริงอันเป็นบรมสุข ตั้งมั่นถาวรไม่กลับกลายเป็นอื่นอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น